ลิขสิทธิ์

 

  1. ลิขสิทธิ์คืออะไร

ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนเองในการ

สร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น โดยงานที่สร้างสรรค์ต้องเป็นงานตามประเภทต่างๆ ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้คุ้มครอง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงาน ลิขสิทธิ์ของตนโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ให้ความคุ้มครองถึงสิทธิของนักแสดง และสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

ลิขสิทธิ์ ถือว่าเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา” ประเภทหนึ่งที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์จึงควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถหา

ประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ของตนได้

 

 

  1. ประเภทของงานที่มีลิขสิทธิ์ มีทั้งหมด 9 ประเภท ดังนี้

2.1  งานวรรณกรรม ได้แก่ หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ คำปราศรัย โปรแกรมคอมพิวเตอร์

2.2  งานนาฏกรรม ได้แก่ งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว การแสดงโดยวิธีใบ้

2.3  งานศิลปกรรม ได้แก่ งานจิตรกรรม งานประติมากรรม ภาพพิมพ์งานสถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพประกอบ หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติเกี่ยวกับภูมิประเทศหรือวิทยาศาสตร์ งานศิลปประยุกต์ ซึ่งรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย

2.4  งานดนตรีกรรม ได้แก่ คำร้อง ทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสานรวมถึงโน้ตเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว

2.5  งานโสตทัศนวัสดุ ได้แก่ วีดีโอเทป แผ่นเลเซอร์ดิสที่บันทึกข้อมูลซึ่งประกอบด้วยลำดับของภาพหรือภาพและเสียงอันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก

2.6  งานภาพยนตร์ ได้แก่ ภาพยนตร์ รวมทั้งเสียงประกอบของภาพยนตร์นั้นด้วย

2.7  งานสิ่งบันทึกเสียง ได้แก่ เทปเพลง แผ่นคอมแพ็คดิสก์ที่บันทึกข้อมูลเสียง  (ไม่รวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์ หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น)

2.8  งานแพร่เสียงแพร่ภาพ ได้แก่ การกระจายเสียงทางวิทยุ หรือการแพร่เสียงหรือภาพทางสถานีโทรทัศน์

2.9  งานอื่นใดอันเป็นงานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

 

  1. ผลงานที่ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์

ผลงานดังต่อไปนี้เป็นผลงานที่ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์

3.1  ข่าวประจำวันและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

3.2  รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย

3.3  ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น

3.4  คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของราชการ

3.5  คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆ ตามข้อ 3.1 – 3.4 ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น

3.6  ความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี ระบบ วิธีใช้หรือวิธีทำงาน แนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์

 

  1. การได้มาซึ่งสิทธิ์

สิทธิในลิขสิทธิ์จะเกิดขึ้นโดยทันทีนับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ต้องจดทะเบียน ดังนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์จึงควรที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเอง โดยการเก็บ

รวบรวมหลักฐานต่างๆ ที่แสดงว่าได้ทำการสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้นเพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์สิทธิ หรือความเป็นเจ้าของในโอกาสต่อไป

 

  1. ใครคือเจ้าของลิขสิทธิ์

บุคคลที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ได้แก่ บุคคลดังต่อไปนี้

5.1  ผู้สร้างสรรค์งาน โดยความคิดริเริ่มของตนเอง โดยไม่ลอกเลียนงานของบุคคลอื่น และอาจหมายรวมถึงผู้สร้างสรรค์งานร่วมกันด้วย

5.2  ผู้สร้างสรรค์ในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง

5.3  ผู้ว่าจ้างในกรณีว่าจ้างให้บุคคลอื่นสร้างสรรค์งาน

5.4  ผู้ดัดแปลง รวบรวม หรือประกอบกันเข้า โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

5.5  กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น

5.6  ผู้รับโอนลิขสิทธิ์

 

  1. การคุ้มครองลิขสิทธิ์

เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ ต่องาน อันมีลิขสิทธิ์ของตนดังนี้

6.1  ทำซ้ำหรือดัดแปลงใหม่

6.2  เผยแพร่ต่อสาธารณชน

6.3  ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง

6.4  ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น

6.5  อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม 6.1 , 6.2 , หรือ 6.3 โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ที่ไม่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรม

 

  1.  อายุการคุ้มครอง

โดยทั่วๆ ไป การคุ้มครองลิขสิทธิ์ จะมีผลเกิดขึ้นโดทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงาน โดยความคุ้มครองนี้จะมีตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และจะคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปี

นับแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต หากแต่มีงานบางประเภทที่จะมีอายุการคุ้มครองแตกต่างกัน ดังนั้น อายุการคุ้มครองสามารถแยกได้โดยสรุป ดังนี้

7.1  อายุการคุ้มครองทั่วไป ลิขสิทธิ์จะมีตลอดอายุผู้สร้างสรรค์ และจะมีต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย

    – กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้สร้างสรรค์ ลิขสิทธิ์จะมีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น

    – กรณีที่ผู้สร้างสรรค์ใช้นามแฝง หรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น

7.2  งานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ลิขสิทธิ์มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น

7.3  งานที่สร้างสรรค์โดยการจ้างหรือตามคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐ ให้มีอายุ 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น

7.4  งานศิลปะประยุกต์ ลิขสิทธิ์มีอายุ 25 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น

   กรณีที่ได้มีการโฆษณางานตาม 7.1 – 7.3 ในระหว่างระยะเวลาดังตาม 7.4 ให้ลิขสิทธิ์มีอายุ 25 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

 

  1. ประโยชน์ของลิขสิทธิ์

8.1  ประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์

  เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ และมีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น หรือผลงานตามข้อใดข้อหนึ่ง

ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ดังนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์จะมีสิทธิ์ในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน และให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ของตน รวมทั้งให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้ลิขสิทธิ์ของตนทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

8.2 ประโยชน์ของประชาชนหรือผู้บริโภค

  การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิในผลงานลิขสิทธิ์ มีผลให้เกิดแรงจูงใจแก่ผู้สร้างสรรค์ผลงานที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่มีประโยชน์และมีคุณค่าออกสู่ตลาดส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับ

ความรู้ ความบันเทิง และได้ใช้ผลงานที่มีคุณภาพ

 

 

ที่มา :  กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์