คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความมุ่งมั่นในการบริการวิชาการแก่สังคมเพื่อส่งเสริมในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ให้แก่ผู้ที่สนใจศาสตร์ทางด้านวิศวกรรม และตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาในการสร้างทรัพยากรบุคคลด้านวิศวกรรม ให้มีพื้นฐานทางวิศวกรรมที่ดีและมีทักษะที่ถูกต้องเหมาะสมต่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และการพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นวิศวกรที่ประสบความสำเร็จในอนาคต  จึงได้พัฒนาการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education) หลักสูตร เตรียมวิศวกรรมศาสตร์ (Pre-Engineering) ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า ที่มีความสนใจอยากศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทางด้านวิศวกรรม หรือผู้มีความความสามารถพิเศษในทางการประดิษฐ์ ความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้าศึกษาต่อในสาขาที่ถนัดเพื่อพัฒนาความสามารถพิเศษทางทักษะวิชาชีพควบคู่กับวิชาการ เกิดทักษะการรู้คิดอย่างมีเหตุผล แก้ไขปัญหาด้วยปัญญามีจิตสำนึก จิตสาธารณะซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมงานทางด้านวิศวกรรม

สำหรับการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตร “เตรียมวิศวกรรมศาสตร์” เป็นการจัดการเรียนการสอน การวัด และประเมินผลการศึกษา เป็นไปตามมาตรฐานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งนักเรียนที่จะสามารถสะสมข้อมูลไว้ในคลังหน่วยกิต เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง การเทียบโอนหน่วยกิตเข้าสู่ระบบการศึกษาในระบบ หรือการรับรองผลลัพธ์การเรียน เมื่อผ่านการประเมินผลการเรียนรู้ตามที่กำหนด

 

วิสัยทัศน์ของหลักสูตร

สร้างผู้เรียนที่มีความพร้อมในด้าน Hard Skill และ Soft Skill ที่สำคัญในการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเป็นวิศวกรที่ประสบความสำเร็จในอนาคต

วัตถุประสงค์

  1.  เพื่อจัดการศึกษาในการเตรียมความพร้อมของผู้เข้าเรียน เพื่อศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์

  2. เพื่อพัฒนาทักษะทั้ง Hard Skill และ Soft Skill ที่จำเป็นของการเป็นวิศวกรในศตวรรษที่ 21

รูปแบบกิจกรรมของหลักสูตร 

  1. การบรรยาย ฝึกปฏิบัติการ การอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และ ฝึกปฏิบัติงาน

  2. เรียนวันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์ละ 3 ชม.

  3. จัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning)  ทั้ง online และ onsite ในรูปแบบค่ายวิชาการในแต่ละรายวิชา

  4. การวัดและประเมินผลการศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานของมหาวิทยาลัย

สิ่งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับ

  1. เป็นการเตรียมความพร้อมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 5 และ 6  ที่สนใจศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านความรู้พื้นฐานด้านวิศวกรรม ทักษะทั้งด้าน Hard Skill และ Soft Skill ที่สำคัญของการเป็นวิศวกรที่ดีในอนาคต

  2. ผู้เข้าศึกษาสามารถสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) ในบางรายวิชาได้ และสามารถเทียบหน่วยกิตได้ภายใต้หลักสูตรระดับปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์เปิดสอน ทั้งนี้เป็นไปตามประกาศของมหาวิทยาลัยและเงื่อนไขของหลักสูตร

  3. เมื่อเรียนครบตามแผนการเรียนแล้วและผ่านการประเมิน ผู้เข้าศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตร และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของ “แฟ้มสะสมผลงาน” หรือ “Portfolio” ที่ใช้ยื่นสมัครเข้าศึกษาต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์

 

รายวิชาพื้นฐานของหลักสูตร

  1. รายวิชา การพัฒนาทักษะการเรียนรู้  (LEARNING SKILL DEVELOPMENT)  จำนวนหน่วยกิต 3(3-0-6)  ค่าลงทะเบียน 3,000 บาท
    สำหรับ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า
    คำอธิบายรายวิชา
    ลักษณะพื้นฐานของการทำงาน ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง การประยุกต์ใช้งานคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ การจัดการคุณภาพในองค์กร หลักพื้นฐานความปลอดภัย ทักษะการตั้งคำถาม และจดบันทึก ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ไคเซน ในการศึกษา ทักษะการทำงานเป็นทีม เทคนิคการนำเสนอผลงาน ทักษะการแก้ไขปัญหา
    Basic description of work, 21st century learning skill, self-paced learning, introduction to application of computer for learning, quality management system in organization, principles of safety, inquiry skill, noting skill, creative thinking skill, Kaizen in education, team work skill, presentation technique, problem solving skill

  2. รายวิชา การเขียนแบบวิศวกรรม (ENGINEERING DRAWING) จำนวนหน่วยกิต 3 (2-3-6) ค่าลงทะเบียน 4,000 บาท
    คำอธิบายรายวิชา
    ตัวอักษรมาตรฐาน ภาพร่าง หลักการฉายภาพ แบบภาพฉาย การให้ขนาดและ ระยะคลาดเคลื่อนยินยอม ภาพตัด ภาพรูปทรง ภาพช่วยและแผ่นคลี่ แบบรายละเอียดและแบบประกอบใช้คอมพิวเตอร์ช่วยเขียนแบบขั้นพื้นฐาน
    Standard lettering, freehand sketches, orthographic projection, orthographic drawing, dimensioning and tolerancing, sections, pictorial drawing, auxiliary view and development, detail and assembly drawing, basic computeraided drawing

  3. รายวิชา การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (COMPUTER  PROGRAMMING) จำนวนหน่วยกิต 3 (3-0-6) ค่าลงทะเบียน 3,000 บาท
    คำอธิบายรายวิชา
    แนวคิดของคอมพิวเตอร์ วิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์ แนวคิดของระบบคอมพิวเตอร์ องค์ประกอบของฮาร์ดแวร์ องค์ประกอบของซอฟต์แวร์ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ แนวคิดการประมวลผลข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การแปลงข้อมูลเป็นสารสนเทศ การประมวลผลข้อมูลคอมพิวเตอร์ การออกแบบและระเบียบวิธีการพัฒนาโปรแกรม แนวคิดการออกแบบจากบนลงล่าง ผังงานโปรแกรม การเขียนโปรแกรมภาษาระดับสูง หลักมูลการเขียนโปรแกรมภาษาระดับสูง ชนิดข้อมูลพื้นฐาน การนำเข้าและการส่งออกข้อมูล โครงสร้างควบคุม ฟังก์ชัน แถวลำดับ สายอักขระและแฟ้มข้อมูล
    Computer concepts: evolution of computer, computer system concepts, hardware components, software components, hardware and software interaction, electronic data processing concepts, data into information transforming, computer data processes, program design and development Methodology, topdown design approach, program flowchart, high level language programming, high level language programming fundamental, fundamental data types, data input and output, control structures, functions, arrays, strings and files

  4. รายวิชา การพัฒนาทักษะทางวิศวกรรม (Engineering Skills Development) จำนวนหน่วยกิต 1(0-3-2) ค่าลงทะเบียน 2,000 บาท
    คำอธิบายรายวิชา
    การคิดเชิงออกแบบ การระบุความต้องการ การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การวิจัยเชิงปฏิบัติการ การวิเคราะห์อันตราย การสร้างข้อมูลจำเพาะการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ท การออกแบบแนวความคิด การออกแบบต้นแบบและการตรวจสอบ
    Design thinking, identify needs, gather information, stakeholder analysis, operational research, hazard analysis, specification creation, creative design, conceptual design, prototype design and verification

  5. รายวิชา สถิตยศาสตร์ (Statics) จำนวนหน่วยกิต 3(3-0-6) ค่าลงทะเบียน 3,000 บาท
    คำอธิบายรายวิชา

    แนวคิดของสถิตศาสตร์ ระบบแรงและแรงลัพธ์ สภาวะสมดุล การวิเคราะห์โครงสร้างเบื้องต้น แรงเสียดทาน จุดศูนย์ถ่วงกลางเรขาคณิต หลักการงานสมมติ และ พลศาสตร์เบื้องต้น
    Statics concept, force system and resultant, equilibrium, fundamental structural analysis, friction, centroid, principle of virtual work and introduction to dynamics

  6. รายวิชา หลักมูลของปัญญาประดิษฐ์  (Fundamental of Artificial Intelligence) จำนวนหน่วยกิต 2(1-2-3) ค่าลงทะเบียน 2,000 บาท
    คำอธิบายรายวิชา
    ปัญญาประดิษฐ์ขั้นแนะนำ การเรียนรู้ของเครื่อง การเขียนโปรแกรมภาษาไพทอน เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ของเครื่อง การเรียนรู้แบบมีผู้สอน และ การเรียนรู้แบบไม่มีผู้สอน
    Introduction to artificial intelligence, machine learning, Python programming, essential tools for machine learning, supervised learning, and unsupervised learning

    **หมายเหตุ รายวิชานี้ผู้เรียนจะต้องผ่านการเรียนของรายวิชาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์**