ประวัติและความเป็นมา

ภาควิชาวิศวกรรมเกษตรได้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2510 เป็นภาควิชาในลำดับที่ 3 ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดสอนระดับปริญญาตรี สาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร ซึ่งเป็นสาขาที่นำความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในงานด้านการเกษตร ได้แก่ ด้านวิศวกรรมดินและน้ำ ซึ่งเกี่ยวกับการชลประทาน  การระบายน้ำ  และการหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ด้านโครงสร้างอาคารการเกษตร  เช่น การออกแบบไซโลอาหารสัตว์และเมล็ดพืช  ด้านเครื่องจักรกลการเกษตรโดยเน้นเครื่องทุ่นแรงในการเกษตร เครื่องจักรกลการผลิต และการเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตร ตลอดจนเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว

ในปี พ.ศ. 2541  ภาควิชาวิศวกรรมเกษตรได้ปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาตรี  โดยแยกออกเป็น 2 สาขา  คือ  สาขาวิชาวิศวกรรมดินและน้ำ  และสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร  เพื่อให้นักศึกษาได้เจาะลึกในสาขาที่ตนเองชอบและถนัด โดยให้นักศึกษาเลือกเรียนสาขาใดสาขาหนึ่งได้ตามประกาศหลักเกณฑ์การเลือกสาขาของภาควิชาฯ  นักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้ในชั้นปีที่สอง

 

หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเกษตร

บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเกษตร ตั้งแต่ปี 2513  ถึงปัจจุบัน

ลำดับที่ ชื่อ-สกุล   ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง
1. ศ.ฉลอง  เกิดพิทักษ์ ปีพ.ศ. 2513-  2517
2. รศ.สัจจะ  เสถบุตร ปีพ.ศ. 2518-  2519
3. ผศ.สมชาย  ปกรโณดม ปีพ.ศ. 2519-  2520
4. ผศ.ไมตรี  จ๋วงพานิช ปีพ.ศ. 2519-  2522
5. รศ.ดร.สุรวุฒิ  ประดิษฐานนท์ ปีพ.ศ. 2522-  2525
6. รศ.ดร.วินิต  ชินสุวรรณ ปีพ.ศ. 2525-  2528
7. ผศ.สมนึก  ชูศิลป์ ปีพ.ศ. 2528-  2531
8. รศ.ธวัช  สิงห์ภู่ ปีพ.ศ. 2531-  2533
9. ผศ.ไมตรี  จ๋วงพานิช ปีพ.ศ. 2533-  2537
10. รศ.ดร.ธวัชชัย  ทิวาวรรณวงศ์ ปีพ.ศ. 2537-  2541
11. รศ.ดร.ธวัชชัย  ทิวาวรรณวงศ์ ปีพ.ศ. 2541-  2545
12. ผศ.ดร.เสรี  วงส์พิเชษฐ ปีพ.ศ. 2545-  2549
13. ผศ.ดร.สมโภชน์  สุดาจันทร์ ปีพ.ศ. 2549- 2553
14. ผศ.ดร.สมโภชน์  สุดาจันทร์ ปีพ.ศ. 2553-2557
15. ผศ.ดร.ชัยยันต์  จันทร์ศิริ ปีพ.ศ. 2557-2559
16. รศ.ดร.สมชาย  ชวนอุดม ปีพ.ศ. 2559 (รักษาการหัวหน้าภาควิชาฯ)

 

ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาสังคมไทยเป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน สภาวะเศรษฐกิจสังคมของไทยกำลังมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการแข่งขันในระบบตลาดเสรี ทำให้คณะฯจำเป็นต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมากเช่นกัน ทั้งในด้านการผลิตบุคลากรให้มีคุณภาพที่สอดคล้องกับการดำรงชีพในสภาวะที่มีการแข่งขันมากและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นปัจจุบัน ทั้งในด้านของการพัฒนาโครงสร้างและวัฒนธรรมการทำงานของคณะฯ ให้มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นพอเพียงกับการดำรงอยู่ในระบบราชการยุคใหม่

ภารกิจสำคัญเหล่านี้ต้องการความมุ่งมั่นจริงจังของบุคลากรในคณะฯ ทั้งคณาจารย์ ข้าราชการ  พนักงาน  และลูกจ้าง  ทุกท่าน  รวมถึงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของศิษย์เก่าวิศวฯ มข.ทุกท่าน  ภาควิชาวิศวกรรมเกษตรเชื่อมั่นว่า เราจะสามารถผ่านพ้นช่วงเวลานี้ได้เป็นอย่างดี