
รศ.ดร.ขวัญตรีและกลุ่ม Bio-Sensing ได้จัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยในนามของศูนย์วิจัยอ้อยและน้ำตาล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทุน วช. เราเน้นที่วิธีการจัดการใบอ้อยที่เหลือคลุมดินอยู่หลังตัดอ้อยสด โดยที่ไม่เผาใบอ้อย โดยวิธีการใช้เครื่องจักรสับกลบ/เครื่องกวาดและเก็บใบอ้อยที่เหมาะกับชาวไร่ที่มีพื้นที่มาก และวิธีฉีดน้ำหมักยูเรียเร่งการย่อยสลายของใบอ้อยสำหรับชาวไร่ที่มีพื้นที่ไม่มาก รวมถึงข้อดีและข้อจำกัดของเครื่องมือแต่ละชนิด โดยมีเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ คุณวีนัดและคุณบุญพร้อม และ บริษัท สยามอิมพลีเม้นจำกัด ร่วมให้ความรู้และสาธิตการทำงาน


ตามผลการศึกษาของ อ.พี่โย ถ้ามีการเก็บใบออกขาย ควรเหลือใบอ้อยไว้ในแปลงอย่างน้อย 50% ที่จะช่วยทั้งเพิ่มธาตุอาหารในดินและช่วยปรับโครงสร้างดินให้เพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำ

นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้ในการช่วยคุมวัชพืช เป็นการเพิ่มผลผลิตอ้อยตอได้จริงและจากผลการศึกษาของ อ.พี่อ้น ทำให้เรารู้ถึงความสามารถของเครื่องสับกลบใบอ้อยที่กลบใบอ้อยได้ดีกว่าผานพรวนสองแถวแบบเดิมถึง 12 เท่า หากใช้งานในขณะที่ดินมีความชื้นเหมาะสม (เช่น ในดินทราย หลังจากฝนตกสัก 25 มม. ขึ้นไป หรือพื้นที่ที่มีการให้น้ำ) ก็จะมีค่าสึกหรอและค่าเชื้อเพลิงไม่สูงมาก

วันนี้ที่แปลงสาธิตความชื้นเหมาะสม พื้นที่ดินทราย มีใบอ้อยปกคลุมหนาประมาณ 17-25 ซม. สามารถทำงานได้ในความเร็วเกียร์ L2 มีความลึกรวม 25-30 ซม. สับกลบใบอ้อยได้ดี และสามารถใส่ปุ๋ยไปพร้อมกันได้ด้วย ชาวไร่ให้ความสนใจดีแต่ก็ยังมีข้อสงสัยในการทำงานใน พท.ดินเหนียว และเรื่องความคุ้มค่า ในเรื่องของเครื่องสับกลบตัวนี้ ชาวไร่/โรงงานไหนที่สนใจอยากให้ไปสาธิตที่แปลงตนเองติดต่อมาได้เลยนะคะ





