เติมน้ำใต้ดินแก้ภัยแล้ง

127

กลุ่มธุรกิจ TCP ร่วมกับ สถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน ม.ขอนแก่น สานต่อโครงการ “เติมน้ำใต้ดิน” ในพื้นที่ ต.นนทรี จ.ปราจีนบุรี แก้ปัญหาภัยแล้ง หวังปลุกพลังเศรษฐกิจชุมชนนำร่องชุมชนต้นแบบ

วันที่ 21 เมษายน 2566 มีรายงานว่า ที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการเติมน้ำใต้ดิน ต.นนทรี จ.ปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจ TCP ร่วมกับสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เผยแพร่องค์ความรู้หลังจัดทำโครงการพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการ “เติมน้ำใต้ดินระดับตื้น” นำร่องที่ ต.นนทรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีพื้นที่กว่า 42,000 ไร่ จนเกิดเป็นชุมชนต้นแบบที่ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม และได้ประโยชน์จริง

ทั้งนี้ ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน เล่าถึงการทำงานเติมน้ำใต้ดินในลุ่มน้ำบางปะกงว่า การเติมน้ำใต้ดิน หรือ Managed Aquifer Recharge (MAR) เป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย อิสราเอล จีน และเกาหลีใต้ เป็นต้น เนื่องจากภาวะโลกร้อน ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันนี้ไม่ได้เกิดแค่ช่วงฤดูกาล แต่จะเกิดเป็นช่วงละหลายๆ ปี ในช่วงปีน้ำมากจึงต้องเก็บสะสมน้ำไว้ใช้ในช่วงปีน้ำน้อย

ดังนั้นการเก็บน้ำบนดินอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงด้านน้ำในระยะยาว การเติมน้ำใต้ดินสามารถทำได้หลายวิธี โดยให้เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของสภาพปัญหาในพื้นที่นั้นๆ เราเริ่มต้นทำโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2561 โดยใช้เวลา 2 ปีแรกในการศึกษาและสำรวจความเหมาะสมทางด้านอุทกธรณีวิทยา ชั้นดิน ชั้นหิน ปริมาณและคุณภาพของทั้งน้ำผิวดินและใต้ดิน และได้เลือก ต.นนทรี เป็นชุมชนต้นแบบการเติมน้ำใต้ดิน จากศักยภาพความเหมาะสมในการเติมน้ำใต้ดิน เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ และมีเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง มีความพร้อมในการสร้างชุมชนต้นแบบถ่ายทอดองค์ความรู้ได้เป็นอย่างดี

“โดยปัญหาด้านน้ำหลักๆ ของพื้นที่ ต.นนทรี จ.ปราจีนบุรี คือ น้ำแล้ง ทั้งที่มีฝนตกปริมาณมากและเกิดปัญหาน้ำท่วมเกือบทุกปี ซึ่งแหล่งน้ำผิวดินจะระเหยไปจนไม่พอใช้ ดังนั้นการกักเก็บน้ำลงสู่ชั้นใต้ดินเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยบริหารจัดการน้ำให้มีใช้อย่างเพียงพอ”

หลักการเติมน้ำใต้ดิน

ดร.เกวรี พลเกิ้น รองผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงหลักการเติมน้ำใต้ดินว่า ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นเริ่มโครงการฯ กับกลุ่มธุรกิจ TCP ตั้งแต่ปี 2561 เริ่มแรกเป็นการศึกษาพื้นที่ว่าสามารถทำโครงการเติมน้ำใต้ดินได้หรือไม่ โดยเริ่มในพื้นที่ ต.ดงขี้เหล้ก 10 จุด ต่อมาปี 2562 ขยายองค์ความรู้ไปยังพื้นที่อื่นใน จ.ปราจีนบุรี ที่ อ.ศรีมโหสถ และ อ.กบินทร์บุรี รวม 31 จุด

จากนั้นในปี 2563 เริ่มทำชุมชนต้นแบบการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ ต.นนทรี อ.กบินทร์บุรี 11 จุด ซึ่งพบว่าในพื้นที่นี้น้ำในฤดูฝนไม่ขาดแคลน แต่ไม่สามารถกักเก็บมาใช้ในหน้าแล้งได้ ต่อมาในปี 2564 มีการเติมน้ำต่อเนื่อง 24 จุด เริ่มเห็นชาวบ้านนำน้ำมาใช้ มีการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่

จากนั้นในปี 2565 พัฒนาระบบเติมน้ำ 15 จุด มีการผลักดันส่งเสริมให้ชาวบ้านนำน้ำมาใช้ โดยให้ความรู้ในการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และในปี 2566 ชุมชนเครือข่ายการเติมน้ำใต้ดินเชื่อมโยงความรู้จากชุมชนต้นแบบ ชุมชนอื่นๆ เข้ามาเรียนรู้ สรุปตั้งแต่ปี 2561 – 2565 มีการเติมน้ำใต้ดินไปแล้ว 91 จุด ปริมาณน้ำใต้ดินที่เติมได้ รวมทั้งหมด 5,934,023 มล.

สำหรับการจัดการเติมน้ำใต้ดิน 4 วิธี ที่นำมาใช้ในพื้นที่ ต.นนทรี จ.ปราจีนบุรี มีดังนี้

1. สระขั้นบันได เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง มีน้ำหลากมาก สามารถกักเก็บน้ำได้มาก และเติมน้ำได้อย่างรวดเร็ว

การเติมน้ำผ่านสระขั้นบันได เป็นการกักเก็บน้ำผิวดินเพื่อให้น้ำไหลซึมลงสู่ชั้นบาดาล ซึ่งบริเวณที่เหมาะสมในการสร้างต้องมีพื้นที่รับน้ำของลำน้ำและปริมาณน้ำฝนมากเพียงพอ ควรมีลักษณะของชั้นหินอุ้มน้ำที่มีความสามารถในการซึมผ่านได้ดี

2. สระน้ำ เหมาะกับพื้นที่ที่มีน้ำหลากไหลผ่าน น้ำท่วมขัง เก็บกักน้ำได้มาก

การเติมน้ำผ่านสระเป็นการสร้าสระน้ำในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อกักเก็บน้ำ เพิ่มเวลาและพื้นที่สัมผัสระหว่างน้ำกับผิวดินให้มากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีตะกอนดินทรายที่ซึมได้เร็ว และมีแหล่งน้ำดิบที่มีปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำที่เหมาะสมต่อการเติมลงไปกักเก็บไว้ในชั้นน้ำบาดาล การเติมน้ำผ่านสระน้ำต้องมีพื้นที่รับน้ำขนาดใหญ่เพียงพอและพื้นที่รับน้ำนั้นไม่มีการปนเปื้อนด้านคุณภาพ

3. บ่อวง เหมาะกับพื้นที่ขนาดเล็กที่มีความลาดชัน เป็นร่องน้ำหรือมีทางไหลของน้ำที่ชัดเจน

การเติมน้ำผ่านบ่อวงเป็นวิธีการรวบรวมน้ำฝนจากผิวดินลงบ่อน้ำตื้น หรือหลุมที่มีทรายหรือกรวดบรรจุอยู่ วิธีการนี้เปรียบเสมือนการนำน้ำฝนที่เหลือใช้ไปเก็บไว้ในใต้ดิน เพื่อนำน้ำขึ้นมาใช้ในช่วงที่ขาดแคลน วิธีการนี้เหมาะสมกับบริเวณที่รองรับด้วยชั้นน้ำไร้แรงดัน หรือชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นและเป็นบริเวณที่มีการลดระดับของน้ำบาดาล เพื่อให้มีระยะกักเก็บน้ำที่เติมลงไปใหม่ได้

4. หลังคา เหมาะกับพื้นที่ชุมชน หรือครัวเรือนที่มีพื้นที่จำกัด น้ำที่เติมลงไปเป็นน้ำสะอาดจึงสามารถใช้ในครัวเรือนได้

การเติมน้ำผ่านหลังคาเป็นวิธีการรวบรวมน้ำฝนจากหลังคา แล้วส่งต่อลงบ่อน้ำตื้น หรือหลุมที่มีทรายหรือกรวดบรรจุอยู่ วิธีการนี้เปรียบเสมือนการนำน้ำฝนที่เหลือใช้ไปเก็บไว้ใต้ดิน เพื่อนำน้ำขึ้นมาใช้ในช่วงที่ขาดแคลน การเติมน้ำใต้ดินโดยวิธีนี้สามารถทำได้ในพื้นที่ชุมชนที่มีหลังคาหรือส่วนที่รองรับน้ำฝน วิธีการนี้เหมาะสมกับบริเวณที่รองรับด้วยชั้นน้ำไร้แรงดัน หรือน้ำบาดาลระดับตื้น และเป็นบริเวณที่มีการลดระดับของน้ำเพื่อให้มีระยะกักน้ำที่เติมลงไปใหม่ได้

ด้าน นางสาวอาจรีย์ สุวรรณกูล ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวเสริมว่า โครงการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อเติมเต็มการทำงานให้ครบทุกมิติ โดยภาครัฐจะดูแลการเติมน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะ เช่น แม่น้ำ คูคลองต่างๆ บทบาทของกลุ่มธุรกิจ TCP จะเข้าไปช่วยเสริมการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นในพื้นที่ชุมชน และพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ผ่านการทำงานอย่างใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากโครงการฯ เป็นที่น่าภูมิใจ เพราะไม่เพียงแค่ทำการเกษตรได้ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังปลุกพลังเศรษฐกิจชุมชน สร้างโอกาส สร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน จากการที่คนในชุมชนเปลี่ยนมาปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง อาทิ ทุเรียน มังคุดและมะยงชิด โดยในปี 2564 – 2565 มีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรสะสมกว่า 1.8 ล้านบาท และยังพัฒนาต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวนวัตวิถีของดีชุมชนอีกด้วย

“กลุ่มธุรกิจ TCP ในฐานะองค์กรที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ต้องการให้ชุมชนมีแหล่งน้ำในการอุปโภค บริโภค และการเกษตรอย่างเพียงพอ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกร นี่คือภารกิจด้านการบริหารจัดการน้ำที่คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ได้เริ่มต้นไว้ และลงมือทำโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าเราได้ให้การสนับสนุนการจัดการน้ำในหลากหลายมิติ เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ต่างๆ”

ความสำเร็จจากคนในชุมชน

คุณไพจิตร จอมพันธ์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายชุมชนต้นแบบเติมน้ำใต้ดิน กล่าวว่า ชุมชนนนทรี จะเน้นการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ โดยที่ผ่านมาชาวบ้านต้องเลือกปลูกพืชที่ทนแล้งได้ดี เช่น มันสำปะหลัง และยูคาลิปตัส เพราะขาดแคลนน้ำ มีปริมาณน้ำไม่แน่นอนในแต่ละปี ถึงแม้เราจะช่วยกันใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านแก้ปัญหาน้ำ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จนพวกเราอยากจะถอดใจ ทำงานหนักแต่คาดเดาผลผลิตไม่ได้จากปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นในแต่ละปี

เมื่อมีโครงการเติมน้ำใต้ดินเข้ามาช่วยให้ความรู้ ลงแรงร่วมใจกันในการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำ ทำให้เกิดความมั่นคงของน้ำ ชาวบ้านสามารถลงทุนปลูกพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น สามารถสร้างเครือข่ายชุมชนต้นแบบ “เติมน้ำใต้ดิน” ที่มีความแข็งแกร่งและขยายจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการอย่างรวดเร็ว เพราะทุกคนในชุมชนได้รับผลประโยชน์ร่วมกันจากการเติมน้ำใต้ดิน มีปริมาณน้ำกิน น้ำใช้ อย่างพอเพียงแม้ในฤดูแล้ง และยังพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ โดยได้ส่งต่อความรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจไปแล้วกว่า 800 คน

คุณไพจิตร กล่าวต่อว่า เมื่อมีน้ำเราก็มาต่อยอดธุรกิจมีการนำระบบสูบน้ำมาใช้กับผลผลิต ในตอนนี้ระบบสูบน้ำยังใช้ไฟฟ้าแต่ในอนาคตจะมีการนำพลังงานจากโซลาร์เซลล์มาใช้ ที่สำคัญคือสระของตนทั้งจากโครงการและที่ขุดเองจะมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี ยังเอื้อประโยชน์ต่อพื้นที่ใกล้เคียจากเดิมน้ำแห้งเกือบทั้งปี ปรากฏว่า สระของตนที่มีการเติมน้ำใต้ดินทำให้สระของเขาน้ำไม่แห้ง เปรียบเหมือนสระของตนเป็นเขื่อน เป็นเหมือนตาน้ำธรรมชาติที่เชื่อมต่อกัน นอกจากนี้ ยังพาไปดูสวนผลไม้ตัวอย่างที่มีการต่อยอดจากการเติมน้ำใต้ดิน โดยการสนับสนุนของกลุ่ม TCP เช่น สวนทุเรียนอินทรีย์ของ “ป้าบุญลือ” ที่ลูกค้าจะต้องมีการจองข้ามปี

ขณะที่ คุณกนกนภัส สุริยธรธร รองประธานคณะทำงานครือข่ายชุมชนต้นแบบเติมน้ำใต้ดิน เปิดเผยถึงการเติมน้ำผ่านสระขั้นบันไดว่า เริ่มแรกทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้ามาตรวจสอบพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมในการทำพื้นที่เติมน้ำใต้ดินหรือไม่ เมื่อสำรวจแล้วจึงมอบพื้นที่ของตนเองให้ขุดสระเพื่อเป็นต้นแบบให้ชุมชน โดยมีคันกั้นน้ำเพื่อชะลอความแรงของน้ำที่ลงมาจากเขา ในปี 2563 ก่อนจะมีการเติมน้ำใต้ดินได้ปลูกยูคาลิปตัส มีรายได้ 2 แสน/ปี ซึ่งในปีแรกที่มีการเติมน้ำใต้ดินนั้นยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งปี 2564 มีการเติมน้ำใต้ดิน มีแหล่งน้ำจึงมีความคิดว่าจะปลูกพืชชนิดอื่นแทนยูคาลิปตัส โดยในปี 2565 ได้เปลี่ยนมาปลูกแตงโม หรือพืชหมุนเวียน ซึ่งใช้เวลาปลูกประมาณ 55-65 วัน ใน 1 ปีจะปลูกได้ประมาณ 3-4 รอบ ทำให้มีรายได้ต่อปีมากขึ้น ประมาณ 1.2 ล้านบาท/ปี

คุณกนกนภัส กล่าวอีกว่า พื้นที่ของตนอยู่ใกล้กับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ก่อนหน้านี้เมื่อเข้าหน้าแล้งจะมีสัตว์ป่าออกมาหาแหล่งน้ำในพื้นที่ชาวบ้าน แต่การเติมน้ำใต้ดินแบบสระขั้นบันไดจะมีประตูน้ำทำให้หน้าแล้งสัตว์ป่ายังคงมีแหล่งน้ำกิน

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการเติมน้ำใต้ดินพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง อยู่ภายใต้โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทยที่กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ดำเนินการสนับสนุนเงินทุน 100 ล้านบาทตามแผนการดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2562 – 2566) ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง ครอบคลุม 7 จังหวัด ให้ได้เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า 15 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ ตามกลยุทธ์ “ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม”

.

In this article