วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 รองศาสตราจารย์ ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) การจัดตั้ง “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์” (AI Engineering Institute) ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เป็นคู่ความร่วมมือ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดี CMKL University  รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหาราชวราพันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ  โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธี ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยปัญญาประดิษฐ์ไทย ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวง อว. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะ และผลิตบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของประเทศ โดยจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรแบบเน้นสมรรถนะของผู้เรียน (Competency-based Education) เฉพาะทาง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ใน 7 ด้าน คือ 1.ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 2.ด้านการเงินและธุรกิจ 3.ด้านการศึกษา 4.ด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 5.ด้านโลจิสติกส์ 6. ด้านอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร และ 7. ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล  ภายใต้การดำเนินงานของ “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์” (AI Engineering Institute) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการดูแลรายวิชาในหลักสูตรต่าง ๆ การแบ่งปันทรัพยากรระหว่างมหาวิทยาลัย และเปิดโอกาสให้นักศึกษา สามารถเข้าร่วมศึกษาแลกเปลี่ยนปฏิบัติงานวิศวกรรม การวิจัย โดยรวบรวมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในแต่ละด้าน นักศึกษาจะได้ร่วมเรียนรู้จากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกทั้งที่อยู่ที่ ม.ซีเอ็มเคแอล ม.คาร์เนกีเมลลอน และจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งต่างมาช่วยกันพัฒนาและขับเคลื่อนการศึกษาและความรู้ด้านวิศวกรรม AI และคอมพิวเตอร์ของไทย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่แข่งขันในเวทีโลกได้ ช่วยให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงและเรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยหลักสูตรนี้คาดว่าจะเริ่มจัดการเรียนการสอนได้ในปีการศึกษา 2565 นี้ ตั้งเป้าว่าในปี 2565-2572 จะผลิตผู้สำเร็จการศึกษาให้ได้ 1,000 คน หรือเฉลี่ย 200 คนต่อปี

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ภารกิจของกระทรวง อว.มี 2 เรื่องใหญ่ คือการพัฒนากำลังคนขั้นสูง และสร้างความเป็นเลิศ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ อว.ต้องดำเนินการผ่านมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยต่างๆ ตามพ.ร.บ.อุดมศึกษา พ.ศ.2562  ได้มีการกำหนดว่า อว.สามารถกำหนดหลักสูตรโดยไม่ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน แต่ต้องเป็นหลักสูตรเร่งด่วนที่เป็นความต้องการของประเทศ (Higher Education Sandbox) หากรอให้มีการพัฒนาหลักสูตรให้ได้มาตรฐาน ที่มีเงื่อนไขมากมายกำกับอาจจะไม่ผลิตบุคลากรไม่เท่าทัน หลักสูตร A.I.Engineering  เป็นหลักสูตรแรกที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การดำเนินการตามมาตรฐานหลักสูตร แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีมาตรฐาน เพียงแต่จะทำให้การดำเนินการพัฒนาหลักสูตร สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น”ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวโดยหลักสูตร Sandbox ทั้งหมดจะเป็น  การพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

 

รศ. ดร. กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย นายกสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA) กล่าวว่า สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ จะช่วยให้เทคโนโลยี A.I. สร้างโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจำนวนมากให้เกิดการปรับตัว ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะเพื่ออนาคตโดยการ Re-skill , Up-skill  ในการพัฒนาบุคลากรร่วมกับภาคเอกชน ภายในปี 2030 ปัญญาประดิษฐ์จะสร้างงานใหม่มากกว่าทำลายงานที่อยู่ในตลาด ด้วยอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นนี้ บุคลากรในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจะต้องทำการพัฒนาทักษะในอนาคตเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตในโลกของการแข่งขัน การจะขับเคลื่อนอนาคตไทยไปได้จะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญสูงสุดกับการพัฒนาทุนมนุษย์ ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศนั้นจำเป็นจะต้องยกเครื่องกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเสียใหม่ เน้นการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษกิจไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมผ่านการกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมที่เป็น New Growth Engine ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

รศ.ดร. รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า“สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์จะช่วยให้ทุกมหาวิทยาลัยผลิตกำลังคนด้านดิจิทัลได้เท่าทันกับความต้องการ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของคนในประเทศได้เร็วขึ้น เพราะหลักสูตรดังกล่าวไม่ได้เปิดโอกาสให้แก่นักศึกษาเท่านั้น แต่คนวัยทำงานที่ต้องการ Re-skill หรือ Up-skill สามารถมาเพิ่มเติมความรู้ และทักษะโดยจะได้รับใบประกาศนียบัตร  ขณะที่นักศึกษาก็ได้รับการเพิ่มเติมองค์ความรู้ ทักษะด้าน A.I. ได้ทันที เมื่อจบออกไปสามารถทำงาน ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม มข.เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนในหลากหลายปริญญา เพราะปัจจุบันองค์ความรู้เพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งอาจไม่เพียงพอในการออกไปทำงานในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้เด็กได้หลายปริญญาร่วมกัน และเด็กสามารถเลือกเรียนได้ โดยหลักสูตรเบื้องต้นจะมีแบ่ง A.I.เป็นกลุ่มๆ เช่น A.I.ด้านการแพทย์ A.I. ด้านการเกษตร A.I.ภาคอุตสาหกรรม สมาร์ทซิตี้ เป็นต้น แบ่งเป็นโมดูลให้เด็กได้เลือกเรียน โดยจะเริ่มในกลุ่มของนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ขณะนี้ สามารถเรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้ อย่างไรก็ตาม นอกจากความร่วมมือ A.I. Engineering  แล้ว ทาง มข. ได้มีการนำเสนอหลักสูตรระบบรางรถไฟฟ้าความเร็วสูง ให้เป็นหนึ่งในหลักสูตร Sandbox  เพื่อที่จะได้ผลิตกำลังคนให้เท่าทันกับความต้องการโครงสร้างของประเทศ โดยคาดว่าจะได้รับอนุมัติในปี 2565 นี้

รศ. พิเชษฐ เชี่ยวธนะกุล หัวหน้าสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าทางภาควิชาได้ดำเนินการผลิตกำลังคนด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มานานกว่า 30 ปี อย่างต่อเนื่อง ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยี (Exponential Growth) ที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่จะส่งผลกระทบอย่างมากและเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ตลาดแรงงานและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกในปัจจุบันและอีกระยะ 10 ปีข้างหน้านี้

สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีทรัพยากรบุคคลที่มีประสบการณ์และมีศักยภาพสูง รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานระบบประมวลผลความเร็วสูงที่เป็นหนึ่งโหนดที่สำคัญของโครงข่ายปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ (A.I. Infrastructure) จึงได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือการจัดตั้งสถาบันวิศวกรรรมปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมืออีก 5 แห่ง ในการแบ่งปันทรัพยากร โดยมีหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ที่ได้รับการพิจารณาให้เป็นหลักสูตรนำร่องสำหรับการจัดการศึกษาแบบ Sandbox ที่เน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนเป็นหลัก ส่งเสริมให้นักศึกษามีโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และคอมพิวเตอร์ร่วมกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป

In this article