เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดย ผศ.ดร.ธเนศ เสถียรนาม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา อ.ดร.วาธิส  ลีลาภัทร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์  ผศ.ดร.ธนา  ราษฎร์ภักดี  อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ พร้อมทีมนักวิจัย ได้จัดพิธีเปิดสถานี Electric Motorcycle Charging Station & Sharing System ภายใต้โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการผลิตและใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศไทย ท่ามกลางผู้เข้าร่วมงาน โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวเปิดงาน  รศ.ดร.สุวิทย์ เตีย  รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และผู้อำนวยการโปรแกรม กฟผ. – สวทช. กล่าวแสดงความยินดี และ รศ.ชินะวัฒน์ มุกตพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร ตัดริบบิ้นเปิดสถานีฯ ณ ห้องประชุมสัมมนา 2 ชั้น 9 ตึกเพียรวิจิตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
    ผศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าโครงการ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า กระทรวงพลังงาน ได้สำรวจการใช้พลังงานในภาคส่วนต่างๆ ภายในประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2533 –  2553 พบว่า ประเทศไทยมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.4 ต่อปี เมื่อพิจารณาการใช้พลังงานของแต่ละภาคส่วน พบว่าภาคขนส่งมีความต้องการการใช้พลังงานเทียบเท่ากับความต้องการพลังงานของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นหากไม่มีมาตรการอนุรักษ์หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน คาดว่าความต้องการพลังงานรวมของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นสูงมาก  จะส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจะมีผลโดยตรงต่อวิกฤตโลกร้อน  สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ได้ทำการศึกษาและเสนอแนวทางการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง 3 มาตรการ ได้แก่ 1.การเปลี่ยนวิธีการเดินทางเพื่อลดการใช้พลังงาน 2.การใช้พลังงานทางเลือก 3.การใช้ยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้ ดังนั้นทีมนักวิจัยจะได้ศึกษา ความเป็นไปได้ในการส่งเสริมการผลิตและใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศไทย โดยได้ทำการตั้งสถานีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 3 คัน และสถานีประจุไฟฟ้า จำนวน 3 เครื่อง
            โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ประเมินเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กในปัจจุบันทั้งของผู้ผลิตในประเทศและต่างประเทศ 2.เพื่อประเมินพฤติกรรมการใช้รถจักรยานยนต์ของผู้ใช้จักรยานยนต์ในกลุ่มต่าง ๆ และผู้ขับขี่ยานยนต์ขนาดเล็กโดยเน้นรถรับจ้างสาธารณะ รวมทั้งสาเหตุที่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กยังไม่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทยโดยการใช้แบบสำรวจความคิดเห็นและให้มีการทดสอบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า 3.เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กให้เหมาะสมต่อการใช้งานของผู้ใช้ในหลายกลุ่มต่างๆ เพิ่มมากขึ้น 4. เพื่อรับฟังความคิดเห็น ความพึงพอใจและข้อจากัดของการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ใช้ที่ได้ทดลองขับขี่จักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย 5. เพื่อประเมินผลกระทบในด้านเศรษฐศาสตร์ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม หากมีการขยายตัวของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและจักรยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ในกรณีศึกษาต่างๆ 6. เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายพร้อมมาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตและส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กให้แพร่หลายต่อไป อย่างไรก็ตามสามารถชมสถานีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าฯ ดังกล่าว ได้ที่ หน้าห้องสมุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
In this article