ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในปัจจุบัน หลายๆบริษัทที่จะรับคนเข้าทำงาน นอกจากจะดูผลการเรียน กิจกรรม และความรู้ความสามารถทั่วไปแล้ว ยังดูผลสอบ “TOEIC” อีกด้วย บางบริษัท คะแนนสอบต้องไม่น้อยกว่า 500 หรือ 550 อื้อหือ อ อ อ จะเยอะไปไหนเนี่ย แต่ใช่ว่าเราจะทำไม่ได้นะคะ ขอแค่เรามีความตั้งมั่นตั้งใจ ทำได้แน่ๆ วันนี้เลยจะพามาทำความรู้จักและแอบสืบเคล็ดลับดีๆ ของการสอบ จากรุ่นพี่วิศวฯของเรา ที่ผ่านสนามสอบ TOEIC และจัดการจนอยู่หมัด

พี่คนแรกที่อยากจะให้รู้จัก คือ พี่เทียน หรือ เทียนพรรษา ติยะวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ผู้คว้าคะแนนสอบ TOEIC มาเบาๆ 840 คะแนน “ก่อนอื่นเลย อยากจะบอกและย้ำกับทุกคนว่า TOEIC เป็นการสอบภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐาน ที่ทดสอบเราในด้านการฟัง การอ่าน ซึ่งถ้าเราจำกันได้ก็จะคล้ายๆ กับ GAT หรือ O-NET นั่นแหล่ะจ๊ะ ไม่ได้ยากมากนัก ถ้า!! … เรามีความคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษพอสมควร” พี่เทียนคนสวยและแสนจะอารมณ์ดีเกริ่นนำ

14-1-2559 11-07-50

“ส่วนมากคนจะเลือกไปติวคอร์สสอบ TOEIC ในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อมาสอบอย่างเดียว แต่ในความคิดของพี่ ถ้าเราคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษและใช้ในชีวิตประจำวันอยู่เรื่อยๆ สิ่งพวกนั้นไม่จำเป็นเลย แต่ไม่ได้หมายความว่าการติวหรือการอ่านหนังสือเพื่อไปสอบเป็นเรื่องผิดนะคะ ถ้าหากทุกคนสามารถนำภาษาอังกฤษให้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันได้ เหมือนกับการที่เราพูด ฟัง อ่าน เขียนภาษาไทย ก็จะเหมือนเป็นการติวในระยะยาวที่เห็นผลได้ดีทีเดียว” ประโยคนี้ของพี่เทียนทำเอาสวยขึ้นอีกเยอะเลย

นักแสดงสาวหน้าม่านจากละครประเพณีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้เทคนิคในการเตรียมตัวสอบว่า “นี่อาจจะไม่ใช่เทคนิคที่ไปสอบ TOEIC โดยตรง แต่เป็นข้อแนะนำที่สามารถช่วยให้น้องๆ ได้นำไปพัฒนาทักษะภาษอังกฤษของตัวเอง ง่ายที่สุดเลย พี่เชื่อว่าทุกคนต้องชอบดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ (ที่ไม่ใช่หนังสือเรียน 5555) นั่นคือจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ที่ดีที่สุด การดูหนังและดูซีรีย์ เป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับคนขี้เกียจเลยนะ ช่วยเรื่อง conversation ได้ดีเลยล่ะ พี่เคยฟังสัมภาษณ์ว่าเวลาจะเรียนภาษาอังกฤษจากหนังนั้น ทำ 3 ขั้นตอน (มันน่าเบื่อหน่อย แต่ลองเลือกเรื่องที่ชอบดู) ขั้นแรกดูเป็นภาษาไทยนี่แหละ ดูให้รู้เรื่องเลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ต่อมาเปิดเสียง soundtrack พร้อมซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ แล้วลองจับคำศัพท์ที่ตัวละครพูดกับความเข้าใจของเราที่คิดว่าเรื่องควรจะเป็น ขั้นสุดท้าย ปิดซับไตเติ้ลไปเลยจ้า ซึมซับการพูดของเขาให้ชินหูเลย เวลาไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ก็พยายามดูแบบ soundtrack  นั่งแถวหลังๆ จะดีมาก เพราะจะได้เห็นทั้งจอชัดๆ จะได้ไม่บอกว่า อ่านแต่ซับไตเติ้ลเลยดูหนังไม่ทัน ที่พี่ทำคือ อ่านซับให้เร็ว อ่านคำแปลเก็บไว้ในใจแล้วเงยหน้าขึ้นมาฟังเขาพูด แรกๆ ก็คงคิดว่าทำไม่ทันหรอก ฝึกค่ะ ฝึก ฝึกเท่านั้น เวลาผ่านไปจะชินเอง” พี่เทียนได้ค่าโฆษณาจากโรงหนังรึเปล่าน๊อ ชวนน้องๆ ไปดูหนังใหญ่เลย แซวเล่นน๊า อิอิ “ส่วนเรื่องการดูซีรีย์ก็ไม่ต่างจากหนังเท่าไหร่ แต่ซีรีย์มีตอนเยอะกว่า ถ้าดูเรื่อยๆ มันจะทำให้เราเข้าใจอะไรมากกว่า เวลาดูก็พยายามดูหลายๆ แนว เราจะได้คำศัพท์หลากหลายมาก อาจเริ่มจากการดูซิทคอมที่เป็นตอนสั้นๆ ตอนละ 20 นาที ไปจนถึงซีรีย์ยาวตอนละเป็นชั่วโมง โดยที่ซิทคอมส่วนใหญ่เป็นซีรีย์ที่ตลก ตัวละครตบมุขกันอย่างรวดเร็ว เราจะได้ยินมุขตลกของฝรั่งหลายๆ อย่าง ที่แตกต่างจากบ้านเราโดยสิ้นเชิง มีคนพูดไว้ว่า ถ้าเราเข้าใจมุขตลกของประเทศไหน แสดงว่าเข้าใจภาษานั้นอย่างถ่องแท้แล้ว ดังนั้นอย่ามองข้ามความตลกเพียง 20 นาที” มิน่า พี่เทียนถึงได้แสดงหน้าม่านได้ตลกมากๆ

การฟังเพลง จะเหมือนดูหนังดูซีรีย์ เวลามีเพลงไหนที่เราชอบฟังปุ๊บ หาเนื้อเพลงปั๊บเลย เดี๋ยวนี้คนไทยหันมาฟังเพลงฝรั่งกันเยอะมากๆ แต่ถ้าอยากฟังให้ได้อารมณ์แล้วเข้าใจเนื้อหาด้วย ต้องทำความเข้าใจเนื้อเพลง แต่ข้อระวังอย่างหนึ่งของการอ่านเนื้อเพลงคือ เพลงส่วนใหญ่จะมีแกรมมาถูกๆ ผิดๆ เพราะบางทีก็ต้องการให้สำเนียงเสียงร้องมีความคล้องจอง ต่อมาคือการอ่านหนังสือ แน่นอนว่าการอ่านหนังสือจะเป็นการช่วยในส่วนของ reading ได้ดีมาก ถ้าจะเริ่มอ่านควรเริ่มที่หนังสือนิทานของเด็กๆ หรือบทความสั้นๆ ในนิตยสารหรือทาง internet ทั้ง 12 tense ที่เราเรียนมาจะปรากฏอยู่ตามที่ต่างๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว แต่ที่เราควรโฟกัสคือ keyword ในแต่ละประโยค ที่เมื่ออ่านไปแรกๆ อาจจะแปลไม่ออกทั้งหมด แต่ถ้าเราขยันเปิดดิกชันนารีทุกครั้งที่เราเจอศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย เราจะสามารถจำไปได้เอง ถ้ายิ่งจดลงสมุดเพื่อเก็บไว้ดูทีหลังได้จะดีมาก พี่ชอบอ่านนิยายในหมวด YA หรือ Young Adult Literature ที่เป็นวรรณกรรมเยาวชน ซึ่งภาษาที่ใช้ไม่ยากจนเกินไป และเนื้อหาไม่เด็กจนเราเบื่อ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีการนำนิยาย YA พวกนี้มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มากขึ้น ถ้าเราทั้งอ่านทั้งดูหนัง มันเหมือนเราได้กำไรสองต่อ” พี่เทียนแนะเทคนิคเพิ่มเติม

14-1-2559 11-07-58

การทำข้อสอบเก่า สำหรับโค้งสุดท้ายที่ใกล้จะสอบ แนะนำๆๆๆๆ ให้ลองไปหาข้อสอบเก่ามาทำดู เพราะข้อสอบมันจะวนๆ อยู่คล้ายเดิม แค่สลับข้อ สลับคำตอบนิดหน่อยเอง สำหรับส่วน listening จะยากหน่อยตรงส่วนของ conversation ที่ต้องฟังเพื่อตอบคำถามถึง 3 ­ข้อ ต้องขยันฟังบ่อยๆ เพื่อให้คุ้นหู เพื่อที่เวลาทำข้อสอบจริงๆ จะได้แยกประสาทฟังและอ่านไปพร้อมๆ กันได้ ถ้ามัวแต่ฟังแล้วไม่ได้อ่านคำถามด้วยล่ะก็ ทำไม่ทันแน่ๆ” พี่เทียนเผยเคล็ดลับ

“ส่วน reading นั้น พี่ออกตัวเลยว่าไม่เก่งแกรมมาเลย จำ tense ยังไม่หมดเลย พี่อาศัยความคุ้นเคย จากทักษะที่ได้อ่านมา หรือได้ฟังคนพูดมา ถ้าเจอส่วนที่ต้องเติมคำในช่องว่างหรือเติมบทสนทนาให้ครบ จะลองเอาคำตอบทุกข้อมาลองพูดในใจดูว่าอันไหนน๊าที่คุ้นเคยหรือใกล้เคียงที่ฟังมาหรือที่อ่านมาที่สุด ถึงมันจะไม่ใช่การทำข้อสอบที่ดีที่สุด แต่มันก็เป็นทดสอบความจำและความคุ้นเคยของเราได้ เพราะสุดท้ายแล้วเราคงไม่สามารถจำคำศัพท์ได้ทุกคำ จำ tense ได้ทุก tense หรือจำกฎได้ทุกกฎอยู่ดี” พี่เทียนให้ข้อคิด ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “สุดท้ายอยากฝากไว้ว่าภาษาคือทักษะ การฝึกฝนเป็นสิ่งสำคัญ การทำให้มันอยู่ในชีวิตประจำวันก็สำคัญเช่นกัน เราไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษเพื่อมาสอบเท่านั้น เราต้องใช้มันในการทำงาน ใช้ในการสื่อสาร ใช้ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ อีกมากมาย ที่ไม่ได้มีภาษาไทยเป็นเครื่องสื่อสาร การนำสิ่งที่เราชอบ เช่น การดูหนัง ฟังเพลง บวกกับภาษาอังกฤษที่เราต้องการ เราก็จะสามารถเรียนรู้และเข้าใจในตัวภาษาได้อย่างง่ายดาย รวดเร็วและเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่ผู้คนใช้งานจริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่บทเรียนที่ได้ถูกแต่งขึ้น สู้ๆ ค่ะทุกคน” จบได้สวยงาม ชนะเลิศค่ะ

พี่คนที่สอง ผู้สามารถพิชิต TOEIC มาได้ ด้วยคะแนน 775 คะแนน พี่ณัฏฐ์ ประพันธ์พงษ์ชัย จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี บัณฑิตหมาดๆ เพิ่งจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พี่ณัฏฐ์เริ่มต้นว่า “การสอบจะแบ่งเป็น 2 ส่วน นะครับ คือ listening  และ reading โดยส่วนที่ 1 listening มี 100 ข้อ ให้เวลา 45 นาที โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนย่อยๆ คือ รูปภาพ ถามตอบ บทสนทนาย่อยๆ  แล้วก็ข้อความประกาศ”

14-1-2559 11-15-33

พี่ณัฏฐ์ ช่วยขยายความต่อว่า “ส่วนแรก รูปภาพ พี่แนะนำว่าให้พยายามทำให้ถูกทุกข้อ เพราะเป็น 10 ข้อ ที่ง่ายที่สุดในการสอบแล้ว จะให้รูปมาแล้วถามว่าภาพนี้เกี่ยวกับอะไร เราก็จะต้องฟัง พยายามหาคำที่เกี่ยวข้องกับรูปที่ให้มาแล้วก็ตอบลงไป ส่วนที่สอง ถามตอบ ส่วนนี้จะไม่มีทั้งโจทย์และคำถาม แนะนำว่าพยายามตั้งใจฟังคำถามดี ๆ ว่าเค้าถามเกี่ยวกับคน หรือ สถานที่ หรือ เวลา เมื่อทราบแล้ว การหาคำตอบก็จะง่ายขึ้น ส่วนที่สามจะเป็นบทพูดของคน 2 คน เทคนิคก็เหมือนส่วนถามตอบ คือ หาคีย์เวิร์ดหรือคำที่เรารู้ อันนี้จะยากขึ้นมาหน่อย ต้องใช้ความเคยชินในการฟัง  แนะนำให้ดูซีรี่ย์หรือภาพยนตร์ภาษาอังกฤษบ่อย ๆ โดยดูซับไตเติ้ลที่เป็นภาษาอังกฤษนะ ไม่ใช่ซับไตเติ้ลที่เป็นภาษาไทย แนะนำให้ดูเรื่องที่เราเคยดูแล้ว จะฝึกภาษาได้ ได้คำศัพท์ด้วย คำไหนไม่รู้ก็เปิดดิกชันนารี่หาความหมาย แล้วก็จดมาท่อง วันละ 3 ถึง 4 คำ ก็ได้ หรือถ้าใครไม่ชอบดูหนัง  เล่นเกมก็ได้นะครับ พี่ชอบเล่นเกมมาก ตอนเด็ก ๆ คุณพ่อของพี่จะให้หาคำศัพท์ที่เกี่ยวกับเกมที่เล่น วันละ 5 คำ ไปท่องให้ฟัง ไม่งั้นจะไม่ให้เล่นเกม ก็เลยได้ท่องมาตั้งแต่เด็ก ๆ เอ้อ! เวลาทำส่วนนี้ พี่มีเทคนิคนิดหน่อย คือ ถ้าเราทำข้อปัจจุบันเสร็จแล้ว ให้ไปอ่านโจทย์ข้อต่อไปไว้เลย ว่าเค้าต้องการอะไร พอถึงเวลาที่ฟังโจทย์จะทำให้ฟังได้ง่ายขึ้น ว่าต้องโฟกัสที่อะไรบ้าง ส่วนสุดท้าย ประกาศข้อความ เวลาเค้าพูด ให้ฟังรายละเอียดต่างๆ ที่เค้าบอก และพยายามจำให้ได้ ส่วนใหญ่เค้าจะถามรายละเอียดพวกนั้น” ก่อนที่พี่ณัฏฐ์จะทิ้งท้ายของส่วน listening ว่า “เวลาทำ listening  ตอนพี่ทำมันจะฝนคำตอบไม่ทัน พี่ก็ใช้วิธีเลือกคำตอบไว้ก่อน แล้วค่อยมาฝนคำตอบทีหลัง ตอนที่ครบ 100 ข้อของ listening แล้ว เอาเวลาที่ทำเสร็จแต่ละข้อไปอ่านโจทย์ข้อต่อไปจะมีประโยชน์กว่ามานั่งฝนคำตอบนะ บอกไว้ ๆ”

“สำหรับส่วนที่ 2 reading พี่เป็นคนไม่ถนัดแกรมมา แต่ก็พอมีพื้นฐานบ้าง ก็อ่านนิดหน่อย แต่ไม่แน่นพอจะสอนได้ แนะนำให้ท่องศัพท์ ศัพท์อย่างเดียวนี้แหละ ช่วยได้เยอะเลย คือเราจะสามารถแปลความหมายของคำถามทุกอันได้ ถ้าเรารู้คำศัพท์ที่โจทย์ใช้ เพราะบางข้อมันจะไม่ใช่แกรมมาแบบเดียว แต่ถาม tense เป็นแบบว่า เว้นช่องว่างไว้ให้ แล้วควรจะตอบอะไร ซึ่งก็จะต้องดูประโยคโดยรวมของคำถาม นั่นหมายความว่า เราก็จะต้องแปลโจทย์ให้ออกถึงจะทำข้อนี้ได้ เพราะงี้ไง ถ้าไม่รู้ศัพท์ ข้อพวกนี้ก็จะทำไม่ได้ เสียคะแนนไปเปล่าๆ    ส่วนใหญ่ข้อพวกนี้จะเป็นข้อง่ายของส่วน reading ด้วย ซึ่งเราควรจะต้องทำให้ได้ หรือวิธีแบบพี่ ซึ่งเป็นคนไม่แม่นแกรมมา คือ ข้ามไปทำ reading comprehension และ passage ก่อนเลย จะใช้เวลาทำมากหน่อย แต่เปอร์เซ็นต์ที่จะได้คะแนนมีมากกว่าไปนั่งมั่วแกรมมา เวลาอ่านให้ไปอ่านคำถามก่อนว่าเค้าต้องการอะไร แล้วสแกนอ่านเอา หาข้อความที่เค้าต้องการ ควรจะรีบในทุกๆ ข้อ เพราะเวลาจะไม่พอ พี่ทำไปดูเวลาไปยังทำไม่ทัน 10 ข้อเลย ไม่มีโอกาสแม้แต่จะฝนคำตอบมั่ว เพราะฉะนั้นดูเรื่องเวลาดีๆ ยิ่งถ้าทำแบบพี่ เอาเวลาหลังจากฟัง listening จบ ไปฝนคำตอบ ยิ่งจะเสียเวลาในการทำ reading ฉะนั้นจึงควรระวังมากๆ” พี่ณัฏฐ์เล่าจนรู้สึกตื่นเต้นตาม

14-1-2559 11-40-06

สุดท้ายให้พี่ณัฏฐ์ฝากอะไรถึงน้องๆ “ก็ขอฝากเรื่องการท่องศัพท์นี่แหล่ะ พี่คิดว่าสำคัญที่สุดแล้วในภาษาอังกฤษ ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน เพราะถ้าเราไม่รู้คำศัพท์ เราก็นำไปใช้ไม่ได้ ถึงจะเป๊ะแกรมมาแค่ไหน แต่ถ้าความหมายโดยรวมของประโยคไม่ถูกต้อง เพราะใช้คำศัพท์ที่สื่อความหมายผิด ก็ไม่มีประโยชน์อะไร จึงควรท่องศัพท์ไว้ วันละนิดวันละหน่อยก็ยังดี สงสัยคำไหนก็เปิดหาความหมายไว้เลย ให้เป็นนิสัย แค่นี้แหล่ะครับ” พี่ณัฏฐ์จบคำแนะนำแบบหล่อๆ

หวังว่าเคล็ดลับดีๆ จากรุ่นพี่ทั้งสองคน จะช่วยน้องๆ ได้ ไม่มากก็น้อย สู้ๆ นะคะ จัดการข้อสอบให้อยู่หมัดเลย เป้าหมายมีไว้พุ่งชน!

 

เรื่อง : ผศ.ดร.ยุวรัตน์ เงินเย็น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

In this article