ศ.ดร.พนกฤษณ คลังบุญครอง ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการจัดระบบการจราจรและขนส่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และรองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาโครงสร้างมูลฐานอย่างยั่งยืน สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัล Prime Minister Road Safety Award (ประเภทบุคคล) ในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน” “(New decade, New normal, Safe driving is priority)” ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยรางวัล Prime Minister Road Safety Award เป็นรางวัลที่มอบแก่บุคคลหรือหน่วยงานที่มีผลงานเด่นชัดในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์
จากรายงาน Global Status Report on Road Safety ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2559 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 22,491 ราย คิดเป็นอัตราผู้เสียชีวิตต่อแสนประชากร เท่ากับ 32.7 ซึ่งมีค่าสูงเป็นอันดับที่ 9 ของโลกและเป็นอันดับที่ 1 ของทวีปเอเชีย และจากข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน (กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) พบว่าในปี 2562 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 19,904 ราย คิดเป็นอัตราผู้เสียชีวิตต่อแสนประชากร เท่ากับ 30.4 ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึงกว่า 5 แสนล้านบาท ค่าอัตราผู้เสียชีวิตต่อแสนประชากรนี้มีค่าสูงกว่าเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยตั้งเป้าหมายอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่อแสนประชากรในปี 2570 เท่ากับ 12 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนน ได้แก่ เป้าหมาย SDG ที่ 3.6 คือการลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้แสดงว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาเร่งด่วนขั้นวิกฤตของประเทศไทยโดยเฉพาะมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากรถจักรยานยนต์มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 75 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด
ตัวอย่างผลงานด้านการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 -2564) ได้แก่ ในปี 2560 ได้ดำเนินการโครงการ “การศึกษาจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน” ให้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนกรขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เพื่อใช้แผนดังกล่าวใช้เป็นกรอบการดำเนินงานแก่หน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงคมนาคมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
ในปี 2563 ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง การสืบสวนอุบัติเหตุเชิงลึกและการตรวจสอบความปลอดภัยทางถนน กรณีอุบัติเหตุขบวนรถไฟขนส่งสินค้าชนกับรถบัสรถขนส่งผู้โดยสาร บริเวณจุดตัดรถไฟ สถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อระบุสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและเสนอแนะแนวทางในการป้องกันและแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
และในปี 2564 ศูนย์วิจัยและพัฒนาโครงสร้างมูลฐานอย่างยั่งยืน สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุนารี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ดำเนินการศึกษาและวิจัย เรื่อง “โครงการวิจัยด้านการพัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา วิเคราะห์ ประเมินผลการจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน และพัฒนาคู่มือการจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน 4 เรื่อง ซึ่งประกอบด้วย (1) คู่มือการจัดการจราจร (2) คู่มือการสยบการจราจร (3) คู่มือการตรวจสอบความปลอดภัยทางถนน และ (4) คู่มือการแก้ไขจุดอันตราย รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการความปลอดภัยทางถนน ให้แก่บุคลากรสังกัดหน่วยงานต่าง ๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สนข. และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์และจัดทำคู่มือระบบผู้เชี่ยวชาญต้นแบบเพื่อแนะนำขีดจำกัดความเร็วบนโครงข่ายถนนสำหรับประเทศไทยและระบบผู้เชี่ยวชาญต้นแบบเพื่อเสนอแนะมาตรการในการแก้ไขจุดอันตรายบริเวณช่วงถนนและทางแยกในประเทศไทยด้วย
ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ได้จัดให้มีพิธีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการสนับสนุนการดำเนินงานวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน ระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย และ 5 สถาบันการศึกษาดังกล่าว เพื่อจัดตั้งศูนย์วิชาการด้านความปลอดภัยทางถนนใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย จากนั้น ปภ. ได้มีหนังสือส่งถึง วช. เพื่อขอนำผลงานวิจัย ได้แก่ คู่มือการจัดการความปลอดภัยทางถนนทั้ง 4 เล่มดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องและดำเนินการจัดการความปลอดภัยทางถนนในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

In this article