ขึ้นต้นเหมือนจะโหดๆ แต่จริงๆ แล้ว อยู่ในโหมดคิตตี้นะคะ ^^ เค้าว่ากันว่า “สิ่งที่ดีที่สุด คือ การให้” ผู้เขียนขอชูสองมือเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง วันนี้จึงอยากจะพาทุกท่านมารู้จักกับ คนดี ศรีวิศวฯ ผู้ซึ่งให้โลหิตของตนเองอยู่อย่างเป็นประจำ คุณโสภา ภักดี หรือ พี่หน่อย ของน้องๆ พี่หน่อยเป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่ง พนักงานพิมพ์ ปฏิบัติงานอยู่ที่ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

เปิดคำถามแรกด้วย “พี่หน่อยบริจาคโลหิตมาได้กี่ครั้งแล้วคะ?” พี่หน่อยบอกว่า “บริจาคเลือดมาแล้ว 22 ครั้ง บริจาคเกล็ดเลือด 98 ครั้ง รวมทั้งหมด 120 ครั้ง” ผู้เขียนอุทานได้คำเดียวว่า ขุ่นพระ!!! >__< พี่หน่อยให้ข้อมูลต่อว่า “ถ้าบริจาคครบ 36 ครั้ง จะได้เข้าเฝ้ารับเข็มที่ระลึกจากสมเด็จพระเทพฯ ถ้าบริจาคครบ 50 ครั้ง จะได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 3 จากพระองค์โสมฯ ถ้าบริจาคครบ 75 ครั้ง จะได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 2 จากพระองค์โสมฯ ถ้าบริจาคครบ 100 ครั้ง จะได้เข้าเฝ้ารับพระราชเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 1 จากสมเด็จพระเทพฯ และถ้าบริจาคครบ 108 ครั้ง จะได้เข้าเฝ้ารับพระราชทานเข็มที่ระลึกจากสมเด็จพระเทพฯ ค่ะ” ซึ่งพี่หน่อยได้เข้าเฝ้าเกือบครบทุกครั้ง ยกเว้นตอนบริจาคครบ 75 ครั้ง เพราะรายชื่อตกหล่นไป นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดไม่ได้

คำถามต่อมา คิดว่าหลายคนที่อยากบริจาคโลหิตบ้างคงอยากรู้ “เข้าใจว่าการจะบริจาคโลหิต ไม่ใช่ว่าอยากไปก็ไปเลย ต้องมีการเตรียมตัวก่อน ต้องมีการเตรียมตัวยังไงบ้างคะ?” ผู้เขียนถามพี่หน่อยไป “บริจาคเลือดทั่วไป ต้องไม่ทานอาหารที่มีไขมันสูง ดื่มน้ำมากๆ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนบริจาค 24 ชั่วโมง และไม่นอนดึกค่ะ ส่วนเกล็ดเลือดต้องเป็นผู้บริจาคโลหิตประจำมาอย่างต่อเนื่อง 3-4 ครั้ง ติดต่อกัน ทุกๆ 3 เดือน โดยเส้นเลือดที่ข้อพับแขนต้องเห็นชัดเจน และเมื่อครบกำหนดบริจาคเกล็ดเลือดครั้งต่อไป เจ้าหน้าที่จะคัดกรองคุณสมบัติว่าสามารถบริจาคเกล็ดเลือดได้หรือไม่” พี่หน่อยตอบด้วยรอยยิ้ม

“ขอถามแบบแมนๆ อย่างคนวิศวฯ เลยนะคะ ว่าการบริจาโลหิตนี่ เจ็บมั๊ยคะ >___<” ผู้เขียนถามออกไปแบบแมนๆ “ตอนเข็มจิ้มถูกเนื้อก็เจ็บอยู่นะ แต่แป๊บเดียว ขนาดพี่บริจาคบ่อยขนาดนี้ยังไม่กล้ามองซักครั้ง” พี่หน่อยตอบพร้อมหัวเราะหนักมาก

สุดท้ายเราจบการสนทนาด้วยการให้พี่หน่อยฝากถึงทุกๆ คน ว่าการบริจาคโลหิตดียังไง และเชิญชวนทุกคนมาบริจาคโลหิตกันค่ะ “การบริจาคเลือดถือเป็นบุญกุศลอย่างหนึ่งที่จะช่วยต่ออายุให้กับบุคลอื่น อิ่มบุญทั้งผู้ให้และสุขใจทั้งผู้รับ พี่ว่ามันเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีค่ามากกว่าเงินทอง เดี๋ยวนี้การทำบุญด้วยเงินทองยังไม่แน่ใจเลยว่าสิ่งที่ทำไปนั้นตกถึงมือผู้ที่เราต้องการให้จริงๆ หรือเปล่า แต่บริจาคโลหิตได้ช่วยชีวิตคนป่วยแน่นอน จึงอยากจะขอเชิญชวนทุกๆ คน ที่มีสุขภาพแข็งแรง ร่วมสร้างบุญด้วยกันค่ะ” นางฟ้าประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากพี่หน่อยแล้ว ยังมีชาววิศวฯ อีกหลายๆ ท่าน ที่บริจาคโลหิตหรือเกล็ดเลือดอยู่เป็นประจำ เท่าที่ผู้เขียนทราบก็มี ผศ.ดร.กัลยากร ขวัญมา หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ผู้เขียนว่าถ้าใครได้โลหิตของท่านหัวหน้าภาคไป รับรอง สดใส อารมณ์ดี และ strong เหมือนท่านแน่ๆ ^___^ หรือ ผศ.ดร.ธันยดา พรรณเชษฐ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา ซึ่งถ้าใครได้โลหิตของท่านอาจารย์ไป รับรองค่ะว่า จะสวยวันสวยคืน คนอะไรก็ไม่รู้ สวยจนต้องเหลียวมอง >___<”

 

ปล. มีรูปสวยๆ ของพี่หน่อยและคนดีศรีวิศวฯ ท่านอื่นๆ ที่บริจาคโลหิตอยู่เป็นประจำมาฝากกันค่ะ

 

ผู้เขียน : ผศ.ดร.ยุวรัตน์ เงินเย็น

In this article