เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 คณะวิศวกรรมศาสตร์  ได้จัดพิธีเปิดโครงการต้นแบบระบบชาร์จรถ EV แบบ V2H ที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ โดยมี นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน มี รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ผศ.ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับ  Mr. Hiroyasu Sato, President of Mitsubishi Company (Thailand) Ltd. และนายอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในนามผู้สนับสนุนทุน และนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ได้ร่วมกล่าวแสดงความยินดีในความสำเร็จของต้นแบบฯ จากนั้น ผศ.ดร.วศกร ตรีเดช อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล นักวิจัย ได้บรรยายเกี่ยวกับโครงการฯ สาธิตการใช้งานระบบชาร์ทไฟฟ้า  และการทดสอบรถ EV ท่ามกลางผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน
     รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้มีความร่วมมือในการจัดทำโครงการกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility) หรือที่เรียกกันว่า CSR Project กับบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เพื่อจัดทำโครงการ The Development of Electric Motorcycle Eco-system in Khon Kaen University ซึ่งผลจากกิจกรรมในครั้งนั้นทำให้มีรถมอเตอร์ไซค์ EV ในการทดลองใช้ในมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก และหลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและบริษัท Mitsubishi Company (Thailand) Ltd. ในการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงการ “Environment-Friendly Community” ซึ่งในโครงการนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อดำเนินโครงการต้นแบบระบบชาร์จรถ EV แบบ V2H ที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นโครงการด้าน CSR Project ในการพัฒนา EV Eco-system ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยผลจากโครงการนี้ทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้จัดทำ ต้นแบบระบบชาร์จรถ EV แบบ V2H ที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนารถ EV ร่วมกับบริษัทต่อไป นอกจากบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้ให้การสนับสนุนโครงการในครั้งนี้ เรายังได้มีความร่วมมือจาก บริษัท Nissan Motor (Thailand) Co., Ltd. ที่ได้เข้าร่วมในการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านรถ EV โดยได้อนุเคราะห์รถยนต์ Nissan LEAF ให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ทดลองในการใช้พลังงานจากรถ EV เพื่อเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าพลังงานสำรองในครัวเรือน
        “คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัย และการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและการสร้างต้นแบบระบบนิเวศน์ในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า จึงได้ให้นักวิจัยคณะฯ ได้ดำเนินการวิจัยและศึกษาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากการวิจัย พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเครื่องยนต์ส่วนใหญ่ของยานพาหนะเป็นสาเหตุที่สำคัญในการสร้างก๊าซเรือนกระจกในเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงส่งผลให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้มุ่งเน้นการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับทุน สนับสนุนจากบริษัท มิตซูบิชิ ประเทศไทย จำกัด นอกจากนี้ยังได้รับทุนต่อเนื่องให้ศึกษาการออกแบบและพัฒนาเพื่อสร้างอาคารต้นแบบ สำหรับชาร์จประจุไฟฟ้าให้แก่รถยนต์ไฟฟ้าด้วยระบบ Chademo โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับระบบสายส่งไฟฟ้า เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วยระบบ Chademo” รศ.ดร.รัชพล กล่าว
        ผศ.ดร.วศกร ตรีเดช อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิจัย กล่าวว่า โครงการต้นแบบระบบชาร์จรถ EV แบบ V2H ที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์  ได้ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศน์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคการขนส่งด้วยการออกแบบ และ สร้างรถโดยสารขนาด 20 ที่นั่ง ที่ใช้เทคโนโลยีการชาร์จประจุแบบ Chademo ภาระบรรทุกรวมน้ำหนักตัวรถ 3,400 กิโลกรัม สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 105 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในการชาร์จ 1 ครั้ง จาก 0 ถึง 100% ใช้ระยะเวลา 8 ชั่วโมง สามารถวิ่งได้ระยะทาง 155 กิโลเมตร อัตราความเร็ว 60 เฉลี่ยกิโลเมตรต่อชั่วโมง  ซึ่งหากคิดในอัตราค่าไฟบ้านเฉลี่ยประมาณ 5 บาทต่อหน่วย งบประมาณในการชาร์จต่อ 1 ครั้ง จะอยู่ที่ 157.50 บาท นอกจากนี้ยังสามารถแปลงพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในรถยนต์ให้จ่ายย้อนกลับไปสู่สถานีชาร์จประจุได้ ซึ่งการชาร์จประจุสามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ควบคู่กับระบบไฟฟ้าของระบบสายส่ง กล่าวคือ ระบบการชาร์จประจุแบบ Chademo ทำให้รถโดยสารขนาด 20 ที่นั่ง คันนี้เสมือนหนึ่งพาวเวอร์แบงค์นั่นเอง
 “ระบบชาร์จตัวนี้มีที่มาจากวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้าของญี่ปุ่น ที่ส่งผลให้เมืองที่อยู่รอบๆไฟฟ้าดับญี่ปุ่นจึงพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา กรณีประชาชนต้องการระบบไฟฟ้าก็สามารถใช้รถของตนเองแปลงพลังไฟฟ้าย้อนกลับ สามารถดึงไฟออกจากรถเพื่อเอามาใช้งาน ฉะนั้นระบบชาร์จ Chademo จึงมีข้อดี คือ เป็นระบบ 2 ทิศทางสามารถชาร์จไฟฟ้าจากระบบสายส่ง หรือ โซล่าเซลล์เข้าสู่ตัวรถได้ และ สามารถปล่อยแรงดันไฟฟ้าย้อนกลับคืนจากตัวรถย้อนไปสู่ตัวบ้านเพื่อเอาไว้ใช้งานได้” ผศ.ดร.วศกรกล่าว
     นอกจากนี้ภายในงานยังมีการเสวนาในหัวข้อ “เทคโนโลยีระบบชาร์จรถ EV แบบ V2H ที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์”  โดยมี ผศ.ดร.วศกร ตรีเดช อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล  ผศ.ดร.จงกฤษณ์ จงอุดมการณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นวิทยากร และคุณวิลาสินี รอดนิ่ม Nissan Motor (Thailand) Co., Ltd. เป็นผู้ดำเนินรายการ

ชมภาพบรรยากาศ bit.ly/42rwAig

 

In this article