เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน 2559 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดเสวนา “360° Lady Engineer Strong Together”หัวข้อ บทบาทหน้าที่ของวิศวกรหญิง โดยมี ผศ.ดร. ลัดดา ตันวาณิชกุล รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร เป็นประธานกล่าวต้อนรับท่ามกลางคณาจารย์ นักศึกษาและวิศวกรหญิงที่เข้าร่วมรับฟัง จำนวนกว่า 120 คน ณ ห้องสัมมนา 1 ชั้น 9 ตึกเพียรวิจิตร สำหรับศิษย์เก่าที่มาถ่ายทอดประสบการณ์ครั้งนี้ ประกอบด้วย

1.คุณอภิสิทธิ์  รุจิเกียรติกำจร  วิศวฯ รุ่นที่ 2

2.คุณสุภาภรณ์    อุนยะวงษ์  วิศวฯ รุ่นที่ 11

3.คุณจิรนาถ  สุมานนท์  วิศวฯ รุ่นที่ 28

4.คุณภัสชญา  โควะวินทวีวัฒน์  วิศวฯ รุ่นที่ 48

และมี คุณเบญจมาภรณ์  มามุข นักประชาสัมพันธ์ สังกัดงานวิทยุสถาบัน กองสื่อสารองค์กร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ

ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.ลัดดา  ตันวานิชกุล รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงานในครั้งนี้ว่า การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและเตรียมความพร้อมให้เป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ เพื่อการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาและเตรียมความพร้อมในการทำงานและประกอบธุรกิจและให้นักศึกษามีโอกาสได้เรียนรู้ประสบการณ์อันมีค่าจากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง มีเป้าหมายหลักที่สำคัญเพื่อให้นักศึกษาหญิงได้ทราบถึงบทบาทและหน้าที่ของวิศวกรหญิง ซึ่งเมื่อจบการศึกษาออกไป นักศึกษาหญิงทุกคน จะได้นำความรู้ที่ได้ในวันนี้ไปปรับประยุกต์ใช้กับการทำงานจริงในอนาคตต่อไป

รองศาตราจารย์พูลพร แสงบางปลา ผู้ก่อตั้งวิศวกรหญิงไทย กล่าวแสดงความรู้สึกการจัดงานงานครั้งนี้ว่าวิศวกรรมศาสตร์ เป็นสาขาความรู้และวิชาชีพเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ ประยุกต์วิทยา ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และความรู้ทางคณิตศาสตร์ เพื่อการใช้ประโยชน์จากกฎทางธรรมชาติและทรัพยากรทางกายภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด  เพื่อช่วยในการออกแบบและประยุกต์ใช้ วัสดุ โครงสร้าง เครื่องจักรเครื่องมือ ระบบ และ กระบวนการ เพื่อการตอบสนองต่อจุดประสงค์ที่ต้องการได้อย่างปลอดภัยและเชื่อถือได้ โดยภาพส่วนใหญ่ที่คนมักจะมองอาชีพวิศวกร คือเป็นอาชีพที่เหมาะหรือเป็นงานสำหรับผู้ชาย แต่ทุกวันนี้หรืออดีตที่ผ่านมานั้น อาชีพวิศวกร ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เพศชายเท่านั้น แต่ผู้หญิงอย่างเรา ก็สามารถก้าวมาเป็นวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถในระดับแถวหน้าได้เช่นกัน

 

ข่าว พิพัฒน์พงศ์ พันธุ์รัตน์
ภาพ ธีรฉัตร อนิวรรตเมธี

In this article