เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2566 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ. ดร.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ รองคณบดีฝายวิจัย นวัตกรรมและการต่างประเทศ พร้อมด้วยอาจารย์ นักศึกษาและบุคลากร ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำโดย นายสหชาติ พิลาออน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยบุคลากร เข้าศึกษาดูงาน ณ หน่วยงานในวังจันทร์ วัลเลย์ จังหวัดระยอง และ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี ภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง กฟผ. และ มข.

โดยในวันแรก ได้เข้าศึกษาดูงาน ณ โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) หรือโครงการวังจันทร์ วัลเลย์ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโครงการที่มีระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ในระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการนำแนวคิดเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน (Smart Environment, Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance, Smart Energy) เข้ามาใช้ในการออกแบบพัฒนาโครงการฯ โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันพัฒนาผู้ประกอบการไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจแห่งอนาคตและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) เพื่อเป็นกลไกในพัฒนาเศรษฐกิจ และเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นด้วยนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ซึ่งได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน 4 หน่วยงานดังนี้

– ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. (PTTEP Technology and Innovation Center: PTIC) เป็นพื้นที่ที่พัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีจากระดับห้องปฏิบัติการ และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ของนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนเครือข่ายการวิจัยต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างและทดสอบต้นแบบที่สามารถนำไปใช้ในสภาพแวดล้อมจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยอาคารทดสอบเทคโนโลยีต้นแบบ, สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ, ลานจอดเฮลิคอปเตอร์, ศูนย์ฝึกอบรม พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ, รวมถึงห้องปฏิบัติการที่เพียบพร้อมไปด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อการพัฒนางานวิจัยไปสู่นวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง ซึ่งจะช่วยต่อยอดและผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างยั่งยืน

– ศูนย์นวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ GPSC (GPSC Smart Energy Center) เป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่มีการบริหารจัดการพลังงานด้วยโครงข่าย Smart Grid โดยมีกำลังผลิต 500 kw ให้ผลผลิตต่อวันประมาณ 2,000 kwh ภายใน Solar Farm แห่งนี้ ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์หลากหลายรูปแบบ เพื่อรองรับการจัดเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ในสภาวะต่าง ๆ นำไปสู่การใช้งานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตามวิสัยทัศน์ของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำ ด้านนวัตกรรม และความยั่งยืนในระดับสากล

– อาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center: IOC) เป็นศูนย์กลางควบคุมสาธารณูปโภคของเมือง สำหรับควบคุมและสั่งการระบบสาธารณูปโภค ระบบรักษาความปลอดภัย และระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดภายในพื้นที่ มีห้องควบคุมปฏิบัติการ (Control Room) ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นวอร์รูมแห่งวังจันทร์วัลเลย์

– ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ (Wangchan Forest Learning Center) เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้แบบครบวงจรด้านระบบนิเวศป่าไม้ การปลูกป่าและการจัดการป่าไม้ ซึ่งถูกจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งใหม่ที่สำคัญของภาคตะวันออก

และในวันที่สอง ได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก และ ศูนย์ EEC Automation Park มหาวิทยาลัยบูรพา โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ชินวุธ พิพัฒน์ภานุกูล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก และคณะทำงาน ให้การต้อนรับ พาเยี่ยมชมส่วนงานดังกล่าว และบรรยายพูดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน

In this article